Handpan คืออะไร


แม้จะดูหน้าตาคล้ายเครื่องดนตรีโบราณพื้นเมือง แต่ที่จริงเครื่องดนตรีชนิดนี้นี้เพิ่งถูกคิดค้นเมื่อปี ค.ศ.2000 นี่เอง  โดยเฟลิกซ์และซาบรินา (Felix Rohner and Sabina Schärer)  ชายหญิงชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในกรุงเบริน โดยเขาเรียกมันว่า ฮัง(Hang)

คำว่า Hang มาจากภาษา เยอรมันแบบเบริน  (Bernese German) แปลว่า " มือ "  ผู้ผลิตกล่าวว่า ฮังเป็นเครื่องดนตรีที่พัฒนาต่อยอดมาจากสตีลแพนและ Ghatam

Steel Pan

Ghatam เครื่องดนตรีพื้นเมืองแถบอินเดีย



 สตีลแพนนั้นรูปร่างคล้ายกลองที่มีๆกะทะอยู่ด้านบน ส่วนแฮนแพนนั้นรูปร่างเหมือนเอากะทะนั้นมาคว่ำแล้วเชื่อมติดกันจนดูเหมือน UFO  กะทะแต่ละใบนั้นถูกเรียกว่า Shell


กะทะที่เราเห็นนั้น ทำมาจากเหล็กชนิดหนา ซึ่งแต่ละผู้ผลิตจะใช้เหล็กต่างๆกันไป คุณภาพของเหล็กนับเป็นส่วนสำคัญมากที่ส่งผลต่อคุณภาพของเสียง  เสียงที่มีคุณภาพสูงก้องกังวานและเสถียร จะเกิดจากเหล็กที่ผ่านกระบวนการการให้ความร้อน เช่น ไนไตรดิ้ง (Nitriding) หรือ Heat oxidation.

กะทะใบบนนั้นเรียกว่า Ding side ส่วนตรงกลางที่เป็นปุ่มนูนใหญ่ลักษณะคล้ายฆ้อง เรียกว่าดิง Ding ซึ่งมักจะเป็นเสียงที่ต่ำที่สุด โน้ตที่อยู่รอบๆเรียกว่า Dimple, Chorus หรือ Tonefield  ส่วนรอยต่อระหว่าง Ding และแต่ละ Tonefield จะเรียกว่า Shoulder เป็นบริเวณที่ทำให้เกิดเสียงอีกรูปแบบหนึ่ง

ใบล่างเรียกว่า Gu side จะมีรูอยู่ตรงกลาง เรียกว่า Gu ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียง resonance กัน โดยผู้เล่นสามารถควบคุมเสียง resonance นี้ได้จากการปิดหรือเปิดรูคล้ายการเล่น Ghatam นั่นเอง (ทั้งโดยใช้หน้าตัก วัสดุอุด หรือใช้มือในการเล่นแบบแนวตั้ง หรือเล่นด้านกุนี้โดยเฉพาะ   ส่วนรอบๆ Gu นั้น เรียกว่า Gu neck ซึ่งผู้ผลิตทีี่ใส่ใจ จะจูนเสียงในบริเวณส่วนนี้ให้เข้าได้กับเสียงด้าน Ding side ด้วย สำหรับการเล่นแบบแนวตั้งหรือเล่นเฉพาะด้านกุ



ที่ชื่อเรียกแรกเริ่ม มาจากคำว่ามือก็เพราะเวลาเราเล่น เราจะใช้ส่วนต่างๆของมือ ทำให้เกิดเสียงต่างๆกัน เช่น การใช้ส่วนต่างๆของนิ้ว ใช้ฝ่ามือ เคาะ ถู แตะ แล้วแต่เทคนิคที่ผู้เล่นจะคิดค้น  ไม่ใช้เฉพาะการตีเท่านั้น สามารถเล่นได้ทั้งทางแนวตั้งและแนวนอน  เสียงที่ออกมาเวลาเล่น จะมีทั้งเสียงเบส เมโลดี้ เพอร์คัสชั่น และ แอมเบียนต่างๆ ในเวลาเดียวกัน


ภายใต้ความธรรมดาและเรียบง่ายของรูปทรงนั้น  Handpan กลับมีเสียง ที่ซับซ้อนและพิเศษแต่ละจุดบนพื้นผิว(โดยเฉพาะที่ผลิตโดยผู้สร้างที่มีคุณภาพสูง)  ในแต่ละTonefield จะถูกจูนเสียงให้มี overtone ประสานกันอย่างพอดี (เช่น มีเสียงที่ 5 และ 7 ใน Tone field เดียวกัน )  Tonefield ที่มีขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดเสียงที่ต่ำ
การวางตัวโน้ตส่วนใหญ่จะวางแบบสลับฟันปลาซึ่งทำให้ง่ายต่อการเล่นด้วยสองมือ   Handpanแต่ละอัน จะมีScale และจำนวนโน้ตที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของผู้สร้าง  โดยส่วนใหญ่พบว่า นิยมสร้างเสียงดิงด้วยเสียง D
ตัวอย่างการเรียงตัวของโทนเสียง และโอเวอร์โทนที่จุดต่างๆ



Handpand เป็นเครื่องดนตรีที่นับว่ายังมีอายุน้อยมาก เนื่องจากเพิ่งถูกสร้างครั้งแรกในปี 2000  ในช่วงห้าปีแรกแทบจะเรียกได้ว่ามีเพียง PANArt จากสวิสเซอร์แลนด์เท่านั้นที่สร้าง ฮัง ออกมา และหลังจากปี 2005 จึงเริ่มมีกลุ่มคนทั้งจากอเมริกา สเปนและรัสเซียเริ่มสร้างเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายฮังขึ้น การเดินทางของนักดนตรีหรือการเผยแพร่ในยูทูบของเครื่องดนตรีที่มีเสียงเฉพาะตัวชิ้นนี้ทำให้เกิดความต้องการในการครอบครอง Handpan ในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆทั่วโลก จนความต้องการสูงมากเกินกว่ากำลังผลิต   กลุ่มผู้ผลิตที่มีน้อยรายมากในระยะแรก  ค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
จากข้อมูลในปี 2014 (http://www.hangdrumsandhandpans.com/p/new-and-upcoming-handpan-and-makers.html) พบว่ามีผู้สร้างกว่า 50 รายทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย



ฮัง(Hang), แฮนแพน(Handpan) หรือ ฮังดรัม(Hang Drum) เราควรเรียกว่าอะไรดี


เมื่อแรกที่ทุกคนเริ่มค้นหาข้อมูลของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ คงพบชื่อเรียกที่หลากหลายมาก โดยชื่อที่พบจะมีทั้ง ฮัง(Hang), แฮนแพน(Handpan), แฮงดรัม(Hang drum), sound sculpture instrument, acoustic steel instrument เป็นต้น หลายคนคงงงว่าทำไมถึงต้องมีชื่อเรียกหลายชื่อขนาดนั้น แล้วควรจะเรียกมันว่าอะไรกันแน่  เราจึงรวบรวมที่มาที่ไปของแต่ละชื่อยอดนิยมเพื่อตอบคำถามเหล่านี้

ฮัง (Hang) 

คือชื่อที่ผู้สร้างเครื่องดนตรีชิ้นนี้ (บริษัท PANArt Hangbau AG.ประเทศสวิสเซอร์แลนด์) ใช้เรียก เครื่องดนตรีที่ตัวเองผลิตขึ้นในปี 2000  โดยชื่อฮังนี้  ผู้ผลิตกล่าวว่าเป็นชื่อพหูพจน์  ส่วนชื่อเอกพจน์จะเรียกว่า ฮังฮัง(hanghang)  
เมื่อSoundsculpture ชิ้นนี้เป็นที่รุู้จักและเริ่มมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้น  PANArt ก็ประกาศว่า ชื่อเรียก ฮัง นี้นั้น สงวนไว้เพื่อเรียกเครื่องดนตรีของบริษัทตนเองอย่างเดียวเท่านั้น  ห้ามให้ผู้อื่นนำไปใช้ ซึ่งต่อมาพบว่าไม่ใช่เฉพาะชื่อเท่านั้น แต่ PANArt  พยายามจะสงวนลิขสิทธิ์ในการผลิตSound Sculpture ในรูปแบบนี้แต่เพียงผู้เดียวด้วย แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังจะเห็นว่าในปัจจุบัน (ปี 2014) มีผู้ผลิตทั้งรายย่อยรายใหญ่จำนวนนับไม่ถ้วนและดูเหมือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แฮนแพน (Handpan) 

ในปี 2007 บริษัท Pantheon Steel จากอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิต Steelpan ได้ผลิตเครื่องดนตรีที่คล้าย Hang ขึ้นมาและเรียกมันว่า Handpan  และต่อมาชื่อนี้ถูกนำมาใช้ในเวปไซต์ Handpan.org ซึ่งเป็นเวปไซต์ที่เป็นเหมือนชุมชนหลักสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและพูดคุยกันเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชิ้นนี้  ชื่อ Handpan จึงถูกใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายในการพูดคุยจนกลายเป็นเหมือนชื่อกลางในการเรียกไปโดยปริยาย 
อย่างไรก็ตามยังมีการถกเถียงกันว่า การใช้ชื่อเรียก Handpan นี้ อาจยังไม่เหมาะสมเพราะเครื่องดนตรีชิ้นนี้  ไม่มีความใกล้เคียงกับ Steelpan แต่อย่างใดแม้จะถูกพัฒนามาจาก Steelpanก็ตาม โดยPANArt ก็ออกตัวว่าไม่ยอมรับที่จะเรียกHang ว่า Handpan  เช่นกัน
***อย่างไรก็ตาม ชื่อ Handpan นี้ ค่อนข้างมีประโยชน์เวลาใช้ search engine ค้นหา เช่นเดียวกับชื่อ Hang Drum ที่จะกล่าวต่อไป  อาจเป็นเพราะง่ายต่อการรับรู้และจดจำ


แฮงดรัม  (Hang Drum)

แม้ชื่อนี้จะพบได้มากเมื่อค้นหาในอินเตอร์เนทและการเรียกของคนทั่วไป แต่ในหมู่คนรัก Sound Sculpture ชนิดนี้แล้ว การเรียกด้วยชื่อนี้อาจถือว่าเป็นบาปเลยทีเดียว  ดูเหมือนชื่อนี้จะถูกตั้งขึ้นโดยคนที่ไม่เข้าใจในพื้นฐานของเครื่องกำเนิดเสียงชนิดนี้อย่างแท้จริง แต่มุ่งหวังในการขายหรือโปรโมตตัวเองผ่านอินเตอร์เนท โดยการใช้คำที่เข้าใจง่ายมากกว่า  
เพราะจริงๆแล้วเครื่องดนตรีชนิดนี้ไม่สามารถจัดอยู่ในข่ายของ membranophone แบบกลองได้  เพราะเสียงที่ได้ไม่ได้เกิดมาจากการสั่นสะเทือนของแผ่นเมมเบรนที่ถูกขึงให้ตึงแบบกลอง   แต่เป็นเครื่องดนตรีในกลุ่ม  idiophone ที่เกิดมาจากโครงสร้างของเหล็กที่ถูกสร้างให้ขึ้นรูปด้วยการอัด ยืด ซึ่งโครงสร้างจะทำให้เกิดแรงอัด, สั่น, บิดและสะท้อนของเสียงขึ้นเมื่อทำการสัมผัสเหล็กในแต่ละพื้นที่ในวิธี และเครื่องมือที่ต่างๆกัน
วิธีการเล่นนั้นก็แตกต่างจากการเล่นกลองอย่างสิ้นเชิง แม้การตีที่พื้นผิวด้วยมือแบบตีกลองจะให้เสียงแบบหนึ่งได้เช่นกัน แต่เครื่องดนตรีชิ้นนี้ ยังสามารถทำให้เสียงได้หลากหลายกว่ามาก ทั้งเสียงเมโลดี้ เบส คอร์ด และ เพอคัสชั่น ในเวลาเดียวกัน ด้วยการสัมผัสด้วยนิ้วแบบเบาๆ, การถู การไสล์ด เคาะ หรือแม้แต่่การบัดมือเหนือเสียงที่กำลังสั่นสะเทือนอยู่ ก็จะสร้างเสียงแปลกใหม่ขึ้นได้อีก


Sound Sculpture

Sound Sculpture เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกเครื่องดนตรีชิ้นนี้ แม้จะค่อนข้างเรียกยากและไม่เป็นที่นิยมเท่าคำว่า Handpan แต่นิยามของ Sound Sculpture ทำให้เราลบข้อจำกัดทางรูปแบบต่างๆเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชิ้นนี้ไปได้ ทั้งในด้านการเล่นที่ข้ามผ่านคำว่ามือ หรือ Handไปและด้านรูปลักษณ์ ดังจะเห็นได้ว่ามีการสร้างและพัฒนาเครื่องดนตรีชนิดนี้ในรูปแบบที่ต่างจากเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเสียงที่มีรูปแบบเฉพาะตัวมากมาย  การเรียกด้วยชื่อนี้จึงเปิดโอกาสให้ทั้งผู้เล่นและผู้สร้าง สร้างเสียงใหม่ๆออกมาได้อย่างไม่รู้จบ  จึงนับว่าเป็นชื่อหนึ่งที่มีความเหมาะสมต่อเครื่องดนตรีชิ้นนี้อยู่มาก


จากความขัดแย้งของชื่อเรียกหลักและการเรียกชื่อเฉพาะของPANArt ผู้ผลิตแรกเริ่ม  จึงทำให้เกิดชื่อเรียกเฉพาะแตกออกมาอีกมากมายตามแต่ละชื่อที่ผู้ผลิตรายอื่นจะตั้งขึ้นเพื่อเรียกเครื่องดนตรีที่ตัวเองสร้าง ซึ่งอาจทำให้เราสับสนในตอนแรกว่าแต่ละชื่อแตกต่างกันอย่างไร จึงขอยกชื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องในการเรียกตามหมวดดังนี้

ชื่อบริษัทผู้ผลิต  / ชื่อเรียกSound Sculptureของผู้ผลิต / ชื่อรุ่นของสเกลหรือ Tonefield

Panart / Hang, Gubal / Akebono Scale
Pantheon Steel / Halo  / Halo  Genesis
Bellart / Bells / Bells Aeolian
SPB / SPB /  A Aeolian
Echo Sound Sculpture / AsaChan / Chandhra  

Asachan, Echo Sound Sculpture

** ผู้เขียน ขออนุญาตใช้ชื่อเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า Handpan เพื่อความง่ายในการเข้าใจและค้นหาทางอินเตอร์เนต